จังหวัดกระบี่มีชายหาดและเกาะแก่งมากมายที่เป็นสถานที่นิยมของนักท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวบ้านเราเองหรือนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกหรือแม้แต่ชาวจีนโพ้นทะเล แต่ละปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาชมความงามของชายฝั่งทะเลอันดามันของจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่กันปีละหลายล้านคน ซึ่งหมายถึงจำนวนเม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวนำมาจับจ่ายใช้สอยอีกจำนวนมาก รายได้ส่วนใหญ่ของ 3 จังหวัดนี้ จึงมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก
คุณประวัติ คลองรั้ว ประธานกลุ่มชาวนาตำบลคลองประสงค์ เล่าให้ฟังว่า “มีการอพยพมาอยู่ที่นี่ประมาณ 200 ปีแล้ว ปู่ของแม่เล่าให้ฟังว่า ปู่เป็นชาวมุสลิมมาจากรัฐไทรบุรี (ก่อนนี้รัฐไทรบุรีเป็นดินแดนหนึ่งของไทย ปัจจุบันอยู่ในประเทศมาเลเซีย) มีชาวพุทธไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ มาจากจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นชาวประมง ส่วนพวกเราทำนา อยู่กันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน มีการแลกข้าวกับปลาซึ่งเป็นผลผลิตของแต่ละคน” ปัจจุบันชาวไทยพุทธไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเพราะมีการย้ายรกรากไปอยู่บนฝั่งเมื่อมีครอบครัว แต่ชาวไทยมุสลิมของคลองประสงค์ยังอยู่ที่เดิมและขยายครอบครัวกันในผืนดินแห่งนี้ ด้วยความรักและผูกพันในเกาะเดิม
การทำนาเพื่อปลูกข้าวไว้กินเองจึงเป็นเรื่องราววิถีชีวิตของที่นี่ พร้อมๆ กับการทำประมงเพื่อหารายได้ ในช่วงก่อนข้าวที่ได้มีราคาถูกมาก ถ้าเราเอาข้าวไปแลกกับสิ่งอื่นหรือไปขายจะได้ไม่คุ้มกับการยังชีพ จึงมีคำกล่าวของชาวบ้านที่นี่ว่า “ทำงานเอาเงินซื้อสารดีกว่า” (สารหมายถึงข้าวสาร) ความหมายคือทำงานแล้วเอาเงินมาซื้อข้าวกินดีกว่า เพราะทำงานอย่างอื่นได้เงินมากกว่า การทำนาจึงลดน้อยลงและบ้างก็ใช้ที่นาในการปลูกพืชอย่างอื่น ต่อมา 10 กว่าปีให้หลัง ทางราชการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกข้าวเพื่อกินกันเองในชุมชน พื้นที่ปลูกข้าวจึงขยายกลับมามากขึ้นกว่าเดิม
ข้าวสังข์หยดของเกาะกลางมีผลผลิตต่อไร่แค่ 450 กิโลกรัม ส่วนหนึ่งได้เก็บไว้สำหรับกินเอง ส่วนที่เหลือจึงจะขาย ทำให้เหลือไม่มากพอที่จะจำหน่ายได้ตลอดปี พอเข้าเดือนตุลาคมของทุกปีข้าวก็จะหมด และจะเริ่มเก็บเกี่ยวอีกทีก็เดือนธันวาคม ถ้าอยากชิมข้าวสังข์หยดของเกาะกลางให้ติดต่อ คุณประวัติ คลองรั้ว ประธานกลุ่มที่เบอร์โทร. (086) 943-4579